ธงชาติไทยสมัย รัชกาลที่ ๕(ธงช้างเผือก)
ประวัติความเป็นมา
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) สยามได้มีการทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ทั้งจากยุโรปและอเมริกาล่องเข้ามาค้าขายมากขึ้น พร้อมทั้งมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในพระนคร ซึ่งชักธงชาติของประเทศตนเองขึ้นเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศสยามจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่าธงสีแดงซึ่งเป็นธงที่ใช้กับเรือของสามัญชนชาวสยามนั้น ซ้ำกับประเทศอื่น ยากต่อการแยกแยะ สมควรยกเลิกเสีย และหันมาใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติสยามสำหรับเรือสามัญชนด้วย แต่โปรดเกล้าให้เอารูปวงจักรสีขาวออกเสีย เพราะเป็นของสูงซึ่งถือเป็นเครื่องหมายเฉพาะของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น โดยให้คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แต่ทว่าให้ปรับขนาดช้างเผือกให้ใหญ่ขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นแบบช้างเผือกยืนพื้น ต่อมาปรับรูปช้างเป็นแบบช้างเผือกปล่อย
ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามเป็นครั้งแรก ตรงกับรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ ต่อมาคือพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ และพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ โดยทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติสยามเป็นแบบธงพื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกสีขาวปล่อยหันหน้าเข้าหาเสา |